REMINDING ME: Sabtang ,Batanes , Philippines
ตอนที่ 4 เที่ยวฟิลิปปินส์ หมู่เกาะบาตาเนส Batanes 14 วัน
เกาะSabtang สร้างความปรารถนาให้เราได้สมดั่งใจ ไม่ว่าจะได้พบเจออะไรก็เป็นภาพที่ดีงามน่าชื่นชมไปเสียหมด อวยได้ตั้งแต่ตอม่อท่าเทียบเรือยันต้นมะพร้าวที่อยู่ตรงท้ายเกาะ ถ้าจะพูดเปรียบให้เห็นภาพ ก็คือ เกาะบาตัน นั้นมีความอลังการด้วยขนาดที่กว้างใหญ่ ทิวทัศน์มีพลังน่ามองอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สำหรับ เกาะSabtang กลับมีเสน่ห์อันน่าอัศจรรย์ใจในขนาดที่เล็กกว่า แต่เปี่ยมไปด้วยธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งหน้าตาของท้องทะเล ภูเขาหน้าผา หรือจะเป็นหมู่บ้านแบบดั้งเดิมและผู้คน ก็ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ อันผสานเข้ากับประวัติศาสตร์ที่ยังคงดำรงอยู่ จนสามารถสะท้อนความรู้สึกถึง สัจนิยมอันน่ามหัศจรรย์ ที่แสนจะเรียบง่าย ก่อให้เกิดทั้งความน่าชื่นชมในสิ่งที่เห็นและมีบรรยากาศที่ทำให้ได้รู้สึกน่าชื่นใจในทุกขณะ นอกจากความดีงามที่ได้กล่าวมานั้น ที่นี่ก็ยังได้รับการยกย่องให้มีคุณค่าเปรียบดั่ง พิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิตของชาวอิวาตันแหล่งสุดท้ายอีกด้วย
การเดินทางมาที่ เกาะSabtang
เราจัดการมาที่นี่เป็นช่วงเวลาของกลางทริป หลังจากที่เราอยู่ที่ เกาะบาตัน มาแล้วสามคืน ตอนเช้าเราตื่นนอนตอนตีสี่ครึ่งเพื่อเก็บข้าวของ ความงัวเงียและขี้เกียจทำให้ยัดทุกอย่างลงกระเป๋าจนดูบวมใหญ่ผิดรูป เราเดินทางมาถึงที่ท่าเรือเมือง Ivana ตอนหกโมงเช้าด้วยสามล้อที่นัดหมายกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวนับร้อยมาถึงก่อนหน้านี้แล้ว และยังคงมีรถที่ทยอยมาส่งผู้คนอีกอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสองวันก่อนหน้าสภาพอากาศอันเลวร้ายทำให้ต้องปิดกั้นการเดินทางไปที่ เกาะSabtang ทุกรูปแบบ จึงมีนักท่องเที่ยวสะสมเป็นจำนวนมาก(ส่วนใหญ่ผู้คนจะไปเช้าแล้วบ่ายๆกลับ มีเราที่แบกสัมภาระพะรุงพะรังอยู่คนเดียว) เราลงทะเบียนและจ่ายค่าธรรมเนียมรวมทั้งค่าโดยสารทั้งหมด 100 กว่าๆเปโซ (เราลงทะเบียนโดยให้เจ้าของที่พักโทรมาก่อนล่วงหน้า แต่ก็ทุลักทุเลในการหาชื่อ-นามสกุลที่เป็นภาษาไทยอันไม่คุ้นชินหรือการออกเสียงชื่อที่พักของเราด้วยสำเนียงแบบไทยๆกับ Timetravel Lodge จนเจ้าหน้าที่อ่อนใจ มันออกเสียงยากจนเราแทบจะกัดลิ้น ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ให้เขียนชื่อลงทะเบียนใหม่อันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ากับทุกฝ่าย) เราได้ตั๋วมาพร้อมกับเสื้อชูชีพที่ทุกคนต้องใส่ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจดูถึงความเรียบร้อยไม่ให้มีการฝ่าฝืนใดใดทุกกระเบียดจนเรือออก
เรือ Faluwa (หรือFalua) ที่เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ใช้กันในพื้นที่นี้ จะออกแบบให้ไม่มีส่วนใดยื่นออกตัวลำเรือ มีความเว้าโค้งและเชิดหน้าเพื่อรับแรงคลื่นในแถบนี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อเรือจอดเทียบท่า เราลงมายืนมึนๆด้วยอาการเมาเรือ ทุกคนต้องผ่านการตรวจวัดไข้และลงทะเบียนเพื่อชำระค่าธรรมเนียม 200 เปโซ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ได้มีการติดต่อนัดหมายล่วงหน้ากับศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพื่อจองรถสามล้อแล้ว จึงทำให้เราและคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีรถในช่วงครึ่งวันเช้า เราทิ้งเบอร์โทรศัพท์เพื่อจองรถในช่วงบ่ายเอาไว้ หลังจากนั้นก็เดินหอบกระเป๋าไปหาที่พักตรงประภาคาร เกาะSabtang ตามข้อมูลคือ จะมีอาคารหลังเล็กบนเนินผาซึ่งเปิดให้บริการเป็นที่พัก ความพิเศษของที่นี่จะอยู่ตรงบริเวณด้านข้างจะมีทางเดินลงไปยังทะเลตรงซอกผาเหมือนเป็นหาดส่วนตัวเล็กๆ เมื่อเรามาถึงรั้วกลับถูกปิดเงียบ พอสอบถามคนแถวนั้นเค้าบอกว่าในส่วนของที่พักกำลังอยู่ในช่วงการปรับปรุงปิดให้บริการ เราจึงเดินย้อนลงมาเข้าพักที่ Pananayan Pension House เป็นที่พักเปิดใหม่ เราเลือกห้องแบบห้องน้ำรวมในราคาคืนละ 500 เปโซ ห้องด้านล่างที่มีหน้าต่างบานเกร็ดเปิดไปเห็นวิวทะเลค่อนข้างถูกใจเราอยู่ไม่น้อย เราพักอยู่ที่นี่ 2 คืน
อีกความน่ากังวลใจของสิงห์อมควันอย่างเรานั่นก็คือ พื้นที่บน เกาะSabtang เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% ถ้าจะหาที่ลับตาเพื่อการนี้ ก็คงจะต้องระมัดระวังหาที่กำบังประหนึ่งกำลังถ่ายทุกข์หนักกันเลยทีเดียว ความจริงจังในเรื่องนี้เข้มข้นมาก เพื่อเป็นการตัดวงจรของนักสูบรุ่นใหม่ เพราะบุหรี่ถือเป็นเป็นการนำพาไปสู่สิ่งอื่นที่เลวร้ายกว่า อาการเจ็บป่วยจากการดื่มกินหรือเสพสารต่างๆนับเป็นบาปกรรมที่ยังคงพอจะห้ามปรามกันได้ บุหรี่จึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและต้องห้ามสุดๆในพื้นที่แถบนี้
ก่อนถึงเวลานัดหมายรถตอนบ่ายโมง เราออกเดินเท้าไปทางทิศเหนือเกือบสองกิโลเมตร จะมีแยกที่ลงไปสู่ชายหาดที่ไร้ผู้คนหรือสิ่งปลูกสร้าง มีเพียงท่าเรือที่ดูทิ้งร้างตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว เราเดินหาที่เหมาะๆใต้ร่มเงาหินและลับตาคน แล้วถอดเสื้อลงเล่นน้ำอย่างไม่ลังเล พอหนาวเกินทนก็ขึ้นมานั่งตากแดด กับฟังเพลงอย่างไม่ต้องเกรงใจใคร เพราะในรัศมีทางสายตา 1 กิโลเมตรไม่มีผู้คนอย่างแน่นอน (ตรงนี้ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยว) ปกติแล้วช่วงที่เดินทางท่องเที่ยวเรามักจะฟังเพลงที่กำลังชื่นชอบแบบวนไปวนมา บางครั้งเป็นเพลงจีน (เช่น Faye wong-Love Letter to myself ตอนไปลอนดอน-ตุรกี) บางทีก็เป็นเพลงบรรเลงที่ฟังแล้วเหมือนโดนสะกดจิตที่ทำให้การเดินทางดูเร้าใจน่าหวาดหวั่นมากกว่าความเพลิดเพลิน ( เช่น Vessel – Red Sex ฟังในทริปตามรอย จอร์จ ออร์เวลล์ พม่าทางตอนเหนือ) ทั้งนี้ก็แล้วแต่อารมณ์ร่วมและประสบการณ์ที่ได้ฟังในช่วงนั้นๆ ที่มักจะไหลเทลงมารวมๆกันอย่างมั่วซั่วในขณะเดินทาง ครั้งนี้ก็เช่นกัน เพลงบายเบิ่ง โดย ลำไย ไหทองคำ ดังก้องอยู่ในใจเราตลอดเวลา กับประโยคที่ว่า “บ่มีอีหยังที่น้องนั้นทำบ่ได้ เฮ็ดหยังแล้วอ้ายพอใจ น้องกะแสนสิแฮปปี้“ มันทำให้ทั้งฮึกเหิมและปลอบประโลมในคราเดียว เมื่อยามเหนื่อยล้าที่ต้องตรากตรำทำงานหนักช่วงก่อนออกเดินทางและเพลงนี้ก็ทำให้เรายิ้มอ่อนๆได้ทุกครั้งที่ได้ฟัง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม นับเป็นโชคดีของเราที่ได้ทั้งเล่นน้ำและได้ฟังเพลงอันไม่เข้ากับวิวมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นที่สุด โดยที่ไม่ได้ไปสร้างความอุจาดตาหรือเสียงเพลง(เสียงร้อง)จะไปรบกวนใคร
เราเดินไปที่ออฟฟิศส่งเสริมการท่องเที่ยวของ เกาะSabtang ซึ่งตอนนี้มาตั้งอยู่ชั่วคราวในอาคารข้างโรงพักตำรวจ เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลและให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆได้เป็นอย่างดี ขนาดพื้นที่ของเกาะไม่ได้ใหญ่มากแต่ก็ไม่ได้เล็กเสียจนจะเดินไปไหนมาไหนได้สะดวก พื้นที่ด้านหลังเกาะจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จึงทำให้เราต้องทำการวางแผนเรื่องรถที่จะไปไหนมาไหนหรือเรื่องที่พักในแต่ละคืนไว้ก่อนล่วงหน้า เราสอบถามอย่างละเอียดแล้วค่อยตัดสินใจในภายหลัง แค่นัดกิจกรรมสำหรับการเที่ยวสำหรับสองวันนี้ก่อน
จริงๆแล้วด้วยขนาดและจำนวนแหล่งท่องเที่ยวของ เกาะSabtang ไม่ได้โอ่อ่ามากมายจนต้องใช้เวลาเที่ยวหลายวันถึงจะครบถ้วน เพียงครึ่งวันก็สามารถเยี่ยมชมทุกสถานที่ได้อย่างทั่วถึง หากใครที่ต้องการหลีกหนีนักท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละแห่ง เราแนะนำให้ออกเที่ยวในช่วงบ่าย(สำหรับคนที่พักแรมบนเกาะเท่านั้น) ในขณะที่คนอื่นๆกำลังเตรียมตัวเดินทางกลับเกาะบาตัน จะทำสถานที่ท่องเที่ยวดูเปลี่ยวเหงาไร้ผู้คนไปถนัดตา
แหล่งท่องเที่ยว เกาะSabtang ทางด้านเหนือ
เราแบ่งเส้นทางท่องเที่ยวด้วยสามล้อออกเป็นสองวัน วันแรกเราล่องมาทางทิศใต้ ซึ่งก็มีแต่ที่เด็ดๆจนทำให้วันที่สองตอนมาเที่ยวทางด้านเหนือนั้นดูจืดลงไปถนัดตา เมื่อเราเห็นเกาะอย่างทั่วถึงแล้ว จึงทำให้เราตัดสินใจที่จะพักค้างแรมที่หมู่บ้าน Chayayan และ Savidug ในอีกสองคืนถัดมา ระหว่างที่อยู่ทางเหนือเกาะ ในใจก็ได้แต่คิดว่าอยากให้ถึงวันรุ่งขึ้นเร็วๆ ถึงขั้นเหม่อลอยจินตนาการถึงบรรยากาศที่จะได้รับตอนที่ได้ไปนอนในหมู่บ้านเล็กๆอันแสนจะน่ารักในอีกสองคืนข้างหน้า จนบางครั้งแอบกลัวเจ้าป่าเจ้าเขาทางเหนือจะน้อยใจ พาลผลักเราตกเหวสักแห่งให้เป็น มรณสักขี กลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนแถวนี้แบบไม่ต้องไปไหนด้วยความหมั่นไส้
บรรยากาศทางด้านทิศเหนือของ เกาะSabtang จะมีทัศนียภาพที่แตกต่าง ค่อนข้างดูเป็นเกาะเขตร้อน บริเวณหาด Morong จะมีซุ้มประตูหินที่นำไปสู่หาดทราย เมื่อเดินต่อไปจะพบโพรงหิน ที่สมัยก่อนทหารญี่ปุ่นเคยใช้เป็นที่กำบังหลบซ่อนในสมัยสงครามโลก หาดแห่งนี้เคยติดอันดับโลกจากการจัดอันดับหาดทรายที่ดีที่สุดอีกด้วย
เมื่อรถสามล้อแล่นผ่านผาสูงเข้าสู่หลังเกาะ ลมดูสงบไม่รุนแรง อากาศอบอุ่นขึ้นจนเราต้องถอดเสื้อแจ็คเก็ตกันลมออก ต้นกล้วยที่ขึ้นหนาตาขึ้นแซมกับพืชเขตร้อนอื่นๆ เราแวะหมู่บ้าน Nakanmaun ที่เงียบสงบ ก่อนจะเลยไปจบที่หมู่บ้านชาวประมงท้ายเกาะที่ Sumnanga พื้นที่แถวนี้เป็นแหล่งปลูกพืชผักผลไม้ที่สำคัญ เพราะด้วยเรื่องของลมที่ไม่พัดแรงจนทุกอย่างดูจะปลิดปลิวไปอย่างทางด้านทิศใต้
แหล่งท่องเที่ยว เกาะSabtang ทางด้านใต้
นอกจากที่นั่งรถสามล้อมาเที่ยวทางด้านทิศใต้ในวันแรกที่มาถึงแล้ว เรายังพักค้างแรมที่หมู่บ้านเล็กๆอีกสองแห่งด้วย การนอนในเวลากลางคืนในโฮมสเตย์ที่เรียบง่ายคงไม่ได้สร้างความพิเศษอะไรให้มากมาย แต่การที่ได้เดินเล่น นั่งชมบรรยากาศของหมู่บ้านในช่วงเวลาที่ต่างๆกัน มันคือประสบการณ์ที่เราคาดคำนึงถึงมากกว่าสิ่งอื่นใด
หมู่บ้าน Chavayan
เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆตรงท้ายเกาะ แต่ก็มีองค์กรที่จะบริหารจัดการความเป็นไปในหมู่บ้านประหนึ่งเป็นรัฐบาลย่อยๆ กฎในการควบคุมชุมชนผู้คนในพื้นที่ที่รวมถึงการประมงและการเกษตร ทั้งยังครอบคลุมไปถึงการอนุรักษ์วิถีชิวิตความเป็นอยู่ในรูปแบบชาว Ivatan ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงทำให้ที่นี่เป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการสัมผัสชีวิตในแบบดั้งเดิมจริงๆ
ถึงแม้ Vakul จะมีให้สำหรับนักท่องเที่ยวแต่งเพื่อถ่ายรูปตามจุดต่างๆบนเกาะ (เป็นเครื่องสานที่สวมหัวด้านหลังจะมีโครงคลุมจากไหล่ไปถึงเอว บ้างทำเป็นเหมือนเสื้อกั๊ก มีไว้เพื่อกันแดดและฝน) แต่ที่นี่ผู้สูงอายุหลายคนยังคงสวมใส่ในชีวิตประจำวันกันอยู่)
บรรยากาศของหมู่บ้านที่เรารู้สึกชื่นชอบ มีความสุขไปกับทุกสิ่งที่ได้เห็นจริงๆ
ในตอนสายเราตัดสินใจออกไปเดินเล่นหลังจากวางกระเป๋าที่บ้านพัก เพราะติดใจเมื่อเห็นหินก้อนยักษ์รูปทรงอันแสนจะดึงดูด มันตั้งตระหง่านท้าคลื่นลมอยู่อีกฝากหนึ่งของหมู่บ้าน ตรงสุดถนนจะมีทางเล็กๆที่ชาวบ้านจะใช้สัญจรกันเพื่อไปยังพื้นที่เกษตรกรรมทางด้านหลังเกาะ ถึงแม้จะไม่มีหาดทราย มีแต่ก้อนหิน ทว่าเราก็ใช้เวลาอยู่ที่นี่นานหลายชั่วโมง เมื่อแสงที่ทะลุเมฆส่องผ่านคลื่นน้ำ ที่บางช่วงปลิวกระจายเป็นละอองฝอย มันยิ่งทำให้ภาพที่เห็นเกิดความดร่ามาทางสายตาได้อย่างเพลิดเพลิน
ก้อนหินหลายก้อนมีรูปทรงและมีรายละเอียดที่แปลกประหลาด บางอันดูยังเหมือนลูกบีบให้ปลิ้นรวมกันเป็นทรงคลื่น ถึงแม้ความรู้ทางธรณีวิทยาจะมีเท่ากับศูนย์ แต่สิ่งที่เห็นมันก็สร้างความบันเทิงเริงใจได้ตลอดเส้นทางจริงๆ
“เมื่อสุดทางเดิน…ทำให้ต้องชั่งใจว่าจะไปต่อหรือหยุดมองแค่จากตรงนั้น…หลายครั้งมักจะรู้สึกเสียดายว่าตอนนั้นน่าจะทำอย่างนั้น ทำไมไม่ลองไปทางนู้น หรือยืนมองมันอยู่แค่ตรงนั้นมันก็ดีอยู่แล้ว…ในครั้งนี้เราจะไม่ยอมปล่อยให้มีพื้นที่ทางเลือกแห่งความอาลัยเมื่อกลับไปให้ได้เกิดขึ้น…เราจะทำทุกอย่างที่อยากทำบนปัจจัยที่เรามี…ถึงแม้จะหกล้ม เท้าพอง หรือหิวไส้แทบขาด…ภาพที่ได้เห็น ได้สัมผัส หลายครั้งมันก็ดีเกินกว่าปัญญาของเราจะคาดเดาจินตนาการเอาไว้ หรือแม้จะไม่ได้รู้สึกพิเศษอะไรมากมายกับสิ่งที่เกิดขึ้น…แต่อย่างน้อยเมื่อกลับไป…ก็จะไร้ตะกอนแห่งความค้างคาใจที่จะกัดกร่อนเราได้ในทีหลัง… ครั้งนี้เราเลยถือคติบางอย่างง่ายๆท่องเอาไว้ว่า ชาตินี้คงได้มาที่นี่ ..ตรงนี้..แบบนี้..ครั้งนี้เพียงครั้งเดียวในชีวิต เพราะฉะนั้นอยากทำอะไรก็ทำ อยากไปตรงไหนก็ไป จะได้ไม่อาลัยเสียใจในภายหลัง…ดื่มด่ำกับสิ่งที่เห็นให้อย่างเต็มที่”
ที่พักในหมู่บ้านจะมีอยู่หลังเดียว เป็นบ้านที่ตกแต่งใหม่ในสไตล์กำนันผู้ใหญ่บ้านที่เต็มไปด้วยของสะสมกระจุกกระจิกมากมายในห้องนั่งเล่น แต่ห้องนอนจะมีเพียงฟูกที่อยู่กลางห้องอย่างโดดเดี่ยวดูวังเวง ที่พักราคาคืนละ 400 เปโซ ต้องติดต่อล่วงหน้ากับทางศูนย์การท่องเที่ยวเพื่อให้เจ้าของมาเปิดบ้านให้
Chamantad Tinyan จุดชมวิวบน เกาะSabtang
ตอนที่ได้มาครั้งแรก ที่นี่ก็ได้ขึ้นมาอยู่ในลิสของความฟินอันดับต้นๆในทันที เนินเขากับผาหินที่มองเห็นอ่าวทั้งสองฝั่งของทะเลจีนใต้และทะเลแปซิฟิกได้สร้างบรรยากาศที่คนรักภูเขาจะได้อินกับท้องฟ้าและน้ำทะเล ลมที่พัดแรงบวกกับอากาศที่หนาวเย็นทำให้เราลืมไปว่าเราอยู่บนเกาะในเขตร้อนชื้น
เรามาที่นี่อยู่สองครั้ง ครั้งหลังสุดคือเดินเท้ามาจากหมู่บ้าน Chavayan เรานั่งบนเนินหญ้าโดยเอาผ้าขาวม้าคลุมหัวกันแดดที่ทำให้แสบผิวอยู่หลายชั่วโมง ก่อนที่จะไต่ลงไปยังอ่าวข้างล่าง เราหลงรักที่นี่อย่างจริงจัง ยกให้เป็นที่สุดของทริปเลยก็ว่าได้ มันเงียบสงบปราศจากเสียงอื่นใดนอกจากเสียงของธรรมชาติ จนทำให้คิดถึงเรื่องต่างๆในแบบที่เพลิดเพลินใจไปได้เรื่อยๆ
มุมมองด้านอื่นๆที่ไม่ได้หันลงทะเลก็น่ามองด้วยเช่นกัน
หมู่บ้าน Savidug
อีกคืนที่เรามาพักในหมู่บ้านแห่งนี้ ถึงแม้ตัวบ้านจะโบกปูนสมัยใหม่ แต่การที่ตั้งอยู่ในดงกับบ้านหลังอื่นๆที่น่ารักก็เป็นสิ่งที่ดีงามอยู่ไม่น้อย
จริงๆแล้วลำพังเพียงแค่รอบๆหมู่บ้านใช้เวลาเดินไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ครบถ้วนได้ แต่การได้นั่งอ้อยอิ่งใต้ต้นมะพร้าวริมทะเล หรือจะลงไปย่ำในน้ำที่ใสแจ๋วตรงหาดด้านหลังหมู่บ้านก็คงทำไม่ได้หากไม่ได้พักค้างแรม
ต้องขอยอมรับว่าห้องพักในบ้านแบบโบราณก็ไม่ได้สะดวกสบาย แต่เราก็ตื่นตาตื่นใจอยู่ไม่น้อยตอนมาถึง เดินเข้าเดินออกรวมทั้งโผล่หัวไปนอกหน้าต่างทักทายคนข้างนอกประหนึ่งเป็นผู้มาอยู่ใหม่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่พิเศษจริงๆ รวมทั้งวิธีการจ่ายเงินด้วย เราไม่ได้พบหน้าของเจ้าของบ้าน เมื่อรถมาส่งก็เปิดประตูกางของแล้วออกไปเดินเล่น พอกลับมากลับพบนักท่องเที่ยวคนอื่นเข้ามาชื่นชมที่พักพร้อมกองเสื้อผ้ารอการซักถึงภายในห้อง (กุญแจการล็อคที่นี่ใช้เพียงไม้ขัด ซึ่งเราก็ไม่ได้รู้สึกไม่ปลอดภัยหรือกังวลใจในเรื่องดังกล่าวสักเท่าไหร่) พอตอนจะกลับเจ้าของบ้านให้เราวางเงินไว้ในสมุดเยี่ยม 350 เปโซ (สนทนาผ่านทางโทรศัพท์)
หาดด้านหลังหมู่บ้านมีทรายขาว น้ำใส ลึกลงไปเป็นหิน แต่ถัดออกไปส่วนใหญ่จะเป็นทรายหยาบและก้อนหินที่ยาวไปจนสุดสายตา จึงทำให้พื้นที่ในแถบนี้ไม่ได้เหมาะที่จะลงเล่นน้ำเสียเท่าไหร่ แต่ความเปล่าเปลี่ยวที่ทำให้เราได้รับสุขสันโดษที่ปลีกวิเวกได้เป็นอย่างดี ก็ต้องถือเป็นความพิเศษอีกอย่างที่เราตั้งตารอ เพราะเวลาหลังเที่ยงที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่กลับไปหมดแล้ว วิวทั้ง360องศาจะมีเพียงแต่ตัวเรากับความลำพังที่จะกอดคอกันชื่นชมธรรมชาติรอบๆตัวได้อย่างหนำใจ
หมู่บ้าน Savidug บน เกาะSabtang มีบ้านหินแบบดั้งเดิมของ Ivatan ที่มุงด้วยหญ้าหนา ประตูหน้าต่างจะมีเพียงบานเล็กๆที่ทาสีสันกันตามแต่รสนิยม ด้านในสุดของหมู่บ้านมีโบสถ์ St.Thomas Aquinas Chapel หลังเล็กน่ารักน่าเอ็นดูตั้งอยู่ที่มีฉากหลังเป็นเนินเขา เมื่อแรกตอนหาข้อมูลก็รู้สึกธรรมดากับหมู่บ้านแห่งนี้ แต่พอเห็นด้วยตาแล้วที่นี่กลับทำให้ตกหลุมรักเข้าอย่างจัง ถึงแม้โฮมสเตย์จะมีเพียงสองหลัง หลังนึงมืดสนิทแม้ในเวลากลางวันเหมือนอยู่ถ้ำ แต่บรรยากาศโดยรวมๆของหมู่บ้าน ก็ดูดึงดูดให้น่ามานอนเอามากๆ
“อันตรภาวะ คือช่วงเวลาหลังความตายและรอการเกิด เป็นภพกลางในสภาวะฝัน ในภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีการสั่งเสียถึงการนำเถ้าอัฐิของคนรักมาโปรยโรยให้ปลิวในสายลมยังสถานที่โปรด เราก็แอบชอบแนวคิดแบบดราม่าเช่นนั้นเวลาเดินทางไปเจอที่ที่ชื่นชอบ เผื่อภาวะที่ว่านั้นมีอยู่จริง จะได้เป็นสัมภเวสีในที่ที่ถูกใจ อย่างพม่าทะเลสาบอินดอจี ที่เงียบสงบก็อยากไปอยู่ ได้เกิดเป็นนกหรือปลาที่นั่นก็น่าจะดี หรือภูเขาสูงที่เมืองดงวันในเวียดนามก็น่าสน แค่หวังผลอยากสบายเพราะอากาศหนาว แต่พอมาที่ เกาะSabtang แล้วใจก็นึกคิด ว่าที่นี่มันช่างเหมาะเจาะตามท้องเรื่อง(ความเพ้อเจ้อ) เพราะมีทั้งทะเลและภูเขาในแบบที่เราชอบ สายลมอันแรงจัดคงทำให้เถ้าอัฐิกระจายได้สวยงามเหมือนในฉากหนังดี”
อ่านติดตามตอนอื่นๆของทริปนี้ได้ตามลิ้งค์ด้านล่างครับ
ตอนที่ 2 เที่ยวฟิลิปปินส์ หมู่เกาะบาตาเนส Batanes 14 วัน – เกาะบาตัน แหล่งท่องเที่ยวทางด้านทิศเหนือ
ตอนที่ 3 เที่ยวฟิลิปปินส์ หมู่เกาะบาตาเนส Batanes 14 วัน – เกาะบาตัน แหล่งท่องเที่ยวทางด้านทิศใต้