REMINDING ME: The Angkor,Siem Reap,Cambodia
เมืองพระนคร หรือ อังกอร์ ในภาษาสันสกฤตที่มีความหมายว่า นครา ที่แปลว่า เมือง นับเป็นความยิ่งใหญ่แห่งยุคที่รุ่งเรืองอย่างสุดขีดของอาณาจักรเขมร ที่มีพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดศูนย์กลาง (อันประกอบไปด้วย นครวัด นครธม และกลุ่มโบราณสถานใกล้เคียงอีกจำนวนหนึ่ง) แล้วแผ่ขยายอิทธิพลครอบคุมไปอย่างกว้างไกลถึงพม่า เวียดนาม ไทย ลาวและมาเลเซีย เป็นเมืองที่มีศาสนสถานขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง
หลายคนยกย่องให้ เมืองพระนคร เป็นดั่งเมืองสวรรค์ในโลกมนุษย์ เป็นที่สุดของความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นทางจิตวิญญาณอันสมบูรณ์แบบ ความทะเยอทะยานที่บรรจงใช้แรงงานและฝีมือในการสร้างศาสนสถานที่เป็นเทวาลัยและหลุมฝังศพ หรือ มฤตกาลัย เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่อันแสนวิจิตรงดงาม เป็นที่ที่ทรงพลังมากในหลายๆแง่แห่งหนึ่งบนโลกใบนี้ที่เคยเกิดขึ้นมา
ปราสาท ศาสนสถานที่ยังคงมีอยู่อย่างมากมายหลายแห่ง หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวในช่วงหลายยุคหลายสมัย เมืองพระนคร ก็ยังคงเป็นโครงสร้างอันศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงความเป็นศูนย์กลางทางการเมืองศาสนาและสังคมที่กว้างใหญ่ของอาณาจักรเขมรโบราณได้เป็นอย่างดี
การวางแผนเยี่ยมชม เมืองพระนคร
หากเราจะใช้เวลาภายในสามวันในการเยี่ยมชมกับพื้นที่ที่มีความกว้างใหญ่ไพศาลขนาดนี้ เราจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องวางแผนและทำความเข้าใจในตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณสถานที่ที่เราต้องการจะเยี่ยมชมกันให้ดีเสียก่อน
โดยเฉพาะอย่างเราที่ตัดสินใจจะเลือกใช้จักรยานสำหรับ 2 วันแรกกับการเยี่ยมชมกลุ่มปราสาทที่อยู่แถวนครวัด นครธม และใช้บริการรถสามล้อในวันที่ 3 เพื่อการไปเยี่ยมชมสถานที่ที่อยู่ค่อนข้างห่างไกล อย่างปราสาทบันทายศรี และอีกหนึ่งวันเต็มๆในวันที่ 4 ของการซื้อทัวร์เพื่อไปยังโบราณสถานที่อยู่ห่างไกลออกไปกว่าร้อยกิโลเมตรอย่างเกาะแกร์และปราสาทเบ็งเมเลีย (ไม่สามารถใช้ Angkor Pass ได้)
การวางแผนที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องจัดกลุ่มจุดหมายปลายทางไว้ด้วยกัน แต่อาจหมายถึงการหลีกเลี่ยงคลื่นมหาชนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แออัดด้วยเช่นกัน
หลายคนกังวลและตั้งคำถามกับเรื่องความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนถึง 2 ล้านคนต่อปี อันจะมาลดทอนมนต์ขลังความน่ามาเยือนของที่นี่ลงหรือเปล่า คำตอบก็คือ ใช่ บางครั้งเราก็รู้สึกหงุดหงิดรำคาญกับความไม่รักษามารยาทในพื้นที่สาธารณะของคนบางกลุ่ม แต่หลายๆแห่งกลับพบว่าเมื่อเราเดินอ้อมไปอีกทางเพียงเล็กน้อย ก็จะพบกับความวังเวงได้อย่างไม่น่าเชื่อ รวมทั้งการที่ได้ไปโบราณสถานบางแห่ง ที่ไม่ใช่จุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยว นั่นก็จะสามารถสร้างบรรยากาศของการผจญภัยที่ไร้สิ่งรบกวนได้อยู่ไม่น้อย
หลักๆที่น่าจะนำไปใช้ได้ในการตัดสินใจ นั่นก็คือเวลาที่จะไปเยี่ยมชมสถานที่ที่เป็นที่นิยม อย่างเช่น ปราสาทตาพรหมหรือปราสาทบันทายศรี ให้เลือกเวลาที่เช้าหรือเย็นที่สุด รวมทั้งเวลาอาหารกลางวัน ที่จะทำให้กลุ่มคนที่มากับทัวร์นั้นบางตาลง การตัดใจที่จะไม่ขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตกหรือขึ้นที่พนมบาเค็ง แต่ให้ไปชมปราสาทอื่นๆหรือบารายต่างๆในยามเย็นแทน
ในวันแรกเราขี่จักรยานเพื่อไปทำบัตร Angkor Pass (บัตรผ่านแบบสามวันแต่จะใช้ได้ภายใน 1 อาทิตย์ (62 US$) เจ้าหน้าที่จะเจาะรูเฉพาะวันที่ที่เราเราเข้าไปเยี่ยมชม) และกลับเข้าเมืองเพื่อไป พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์ เสียมเรียบ ที่นี่สามารถทำให้เราเข้าใจเรื่องราวต่างๆและจะทำให้การไปเยี่ยมชมโบราณสถานของจริงนั้นมีความหมายยิ่งขึ้น
เราใช้หนังสือหลายเล่มอยู่เหมือนกันในการใช้อ่านเป็นข้อมูล และเล่มที่เราชื่นชอบและแบกใส่กระเป๋าไปด้วยนั้นก็คือTHE ANGKOR GUIDEBOOK: YOUR ESSENTIAL COMPANION TO THE TEMPLES ที่ทั้งค่อนข้างหนาและหนัก แต่ชอบตรงที่ผู้จัดทำจะมีภาพจำลองของโบราณสถานต่างๆว่าสมัยก่อนนั้นหน้าตาจะเป็นเช่นไรเพื่อเป็นการเปรียบเทียบกับปัจจุบัน
เสน่ห์อีกอย่างของ เมืองนคร ก็คือ การที่มีผืนป่าขนาดใหญ่อยู่โดยรอบ
การที่มีต้นไม้พันเกี่ยวเลี้ยวรัดแผ่ขยายไปตามศาสสถาน ที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในอีกรูปแบบได้เป็นอย่างดี รากไม้บางแห่งอย่างที่ปราสาทตาพรหมกลายเป็นเหมือนคนดัง ที่มีคิดต่อแถวถ่ายรูปกันอย่างแน่นขนัด
ในหน้าฝนที่สร้างความเขียวขจีให้กับสถานที่ที่เป็นโบราณนั้น สร้างมนต์เสน่ห์เพิ่มความขลังได้อย่างมากมาย การได้มาขี่จักรยานไปไหนมาไหนท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ตั้งแต่เข้าเขตอนุรักษ์นั้นถือเป็นรางวัลให้กับชีวิต (แต่กว่าจะได้รางวัลที่ว่านั้นจะต้องทนขี่จากในเมืองที่พักเข้าไปในเขตร่มเงาที่ว่านั้นก็เหมือนตกนรกเบาๆอยู่เหมือนกัน กับระยะทางกว่าเจ็ดกิโลเมตร)
จักรยานในราคาสองดอลลาร์กับตระกร้าที่ขึ้นรานั้นนับเป็นยานพาหนะที่ไม่ได้สะดวกสบายแต่ทำให้เราสามารถไปยังจุดต่างๆได้ด้วยตัวเราเอง การเช่ารถมอเตอร์ไซค์ของที่นี่ยังเป็นเรื่องคลุมเครือ เพราะชาวต่างชาติมักจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอยู่หลายครั้ง ซึ่งจริงๆยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอาจโดนปรับได้ แต่ก็ผ่อนปรนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และเดี๋ยวนี้ยังมีทางเลือกใหม่เป็นจักรยานไฟฟ้า แต่การหาที่ชาร์จไฟยังไม่ค่อยมีให้บริการอย่างทั่วถึง
ในเขตด้านในเมืองเก่าสัญญาณโทรศัพท์จะไม่ค่อยมี โดยเฉพาะเมื่อเลยนครวัดเข้าไปด้านใน หากใครตัดสินใจที่จะไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง ก็ควรมีแผนที่และศึกษาดูเรื่องเส้นทางเอาไว้ก่อนล่วงหน้าจะดีกว่า เพราะหากเราเกิดการเปลี่ยนใจหรือหลงทางในขณะที่แสงยามเย็นอันสวยงามที่กำลังจะหมดลง นั่นจะทำให้เราพลาดไม่ได้ชื่นชมสิ่งใดเลย นอกจากถนนและต้นไม้ แถมยังต้องงมหาทางกลับบ้านที่ต้องแข่งกับเวลาที่ใกล้มืดลงอีกด้วย
เมื่อยี่สิบห้าปีก่อนคณะกรรมการมรดกโลกซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองซานตาเฟประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2535 เพื่อกำหนดให้เมืองพระนคร กลายเป็นมรดกโลกขององค์กรยูเนสโก แต่จากสถานการณ์ของกัมพูชาในขณะนั้น ไม่สามารถดำเนินการอนุรักษ์หรือจัดการกับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมได้ดี จึงได้รับความร่วมมือในระดับนานาชาติ มีประเทศที่เสนอตัวให้ความช่วยเหลือในด้านการศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนา มากกว่า 20 ประเทศ เพื่อที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูให้โบราณสถานกลับมาอยู่ในสภาพที่ไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม ทั้งจากกาลเวลาและจากสถานะการณ์อื่นๆ
ความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นกับโบราณสถานเหล่านี้ ที่นับมาตั้งแต่สมัยสงครามระหว่างอาณาจักร เรื่อยมาจนมาถึงภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม ฟ้าผ่า ไฟป่า ความโรยราตามกาลเวลา ส่วนระยะที่สองเกิดในช่วงปีคศ. 1873 ที่มีการเข้ามาของชาวฝรั่งเศส ได้มีทีมเข้ามาสำรวจและรื้อเอารูปเคารพ ภาพสลักที่สวยงาม กลับไปหลายชิ้น (แต่ที่น่ายินดีก็คือ หลายชิ้นที่ว่านั้นยังคงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในพิพิธภัณฑ์ กีเมต์ กรุงปารีส รวมทั้ง Louis Delaporte หนึ่งในผู้ค้นพบเมืองพระนครในยุคนั้น ก็ได้มีการวาดภาพสถานที่ต่างๆเอาไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลอันสำคัญในการเป็นแบบแผนที่ใช้บูรณะในเวลาต่อมา รวมทั้งการหล่อแบบแกะพิมพ์ลายภาพนูนต่ำในนครวัดขนาดเท่าของจริง ที่ในเวลาต่อมาเสาหินที่ค้ำยันระเบียงคดได้เกิดพังทลายสร้างความเสียหายให้กับภาพสลักของจริงเป็นอย่างมาก) แต่การทำลายที่รุนแรงที่สุดก็คือจะอยู่ในช่วงสงคราม ที่มีกองทหารเข้ามาใช้แหล่งโบราณสถานต่างๆเป็นแหล่งที่พัก พร้อมกับการทำลายและเอาของมีค่ากลับไป โดยใช้ทั้งระเบิดอันสร้างความเสียหายให้กับโบราณสถานเป็นอย่างยิ่ง บางแห่งถึงกับเป็นการทำลายโครงสร้างอย่างถาวร อย่างที่ไม่สามารถกอบกู้กลับคืนมาได้อีกก็มี
ในปัจจุบันที่หลายฝ่ายกังวลใจเรื่องภัยต่อโบราณสถานที่จะเกิดจากการท่องเที่ยว
ถึงแม้จะมีกฎระเบียบและเจ้าหน้าที่มาคอยดูแล เพื่อไม่ให้มีคนฝ่าฝืนทำลาย รวมทั้งการทำทางเดินและเชือกกั้นเพื่อไม่ให้คนออกนอกลู่นอกทาง ที่ไม่ใช่แค่จะป้องกันความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ แต่ก็เพื่อความปลอดภัยให้กับผู้มาเยือนมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป นั่นก็คือรอยขีดเขียนของคนมือบอนที่จารึกแสดงความเลวเอาไว้อยู่หลายแห่ง อัปสรานางสวรรค์ก็โดนลวนลามถูกจับลูบจนสึกหรอ เด็กๆที่มาวิ่งเล่นปีนป่าย รวมทั้งเอาหินขวางปาโบราณสถานก็มีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ภาพเหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกสลดหดหู่ในการกระทำของเพื่อนร่วมโลกที่นอกจากไม่ระวังกันแล้วกลับยังทำลายกันอย่างน่าใจหายด้วยใบหน้าอันชื่นมื่นในคราบของนักท่องเที่ยว โดยที่ทั้งหมดไม่ได้อยู่ในภาวะของการถูกบีบบังคับทางสงคราม การเปลี่ยนถ่ายศาสนาหรือเพื่อความอยู่รอดใดๆเหมือนในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่เพื่อประการใดเราก็ไม่อยากที่จะไปประเมิน
การจัดการมรดกหรือทรัพยากรทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ในปี พ.ศ. 2547 เมืองพระนคร ได้ถูกจัดให้เป็นแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย แต่ทุกวันนี้ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในลิสที่ว่า แต่เราก็ยังเห็นว่าอันตรายอยู่ในสายตาของผู้มาเยี่ยมชม ทางภาครัฐควรจัดการอย่างเด็ดขาดจริงจัง ให้เหมือนกับการตัดสินใจขึ้นค่าเข้าเยี่ยมชมเกือบสองเท่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา
REMINDING YOU
-
-
-
-
- การเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์พ่วงสามล้อนั้นค่อนข้างสะดวกและมีบริการอยู่ทั่วไป แต่การตกลงราคากันก่อนรวมทั้งการบอกสถานที่ที่จะเดินทางไปเป็นเรื่องที่จำเป็น การเหมารถทั้งวันจะอยู่ที่ 15-20 US$ และหากมีการออกนอกเส้นทางที่ไกลกว่านั้นอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมทั้งการไปชมพระอาทิตย์ขึ้น โดยส่วนใหญ่จะต้องเพิ่ม 5 US$
- จักรยานมีให้เช่าอยู่ทั่วไปในราคาตั้งแต่ 2 US$ ขึ้นไป แต่เราเลือกใช้ White bicycle ที่จะมีการหักรายได้เพื่อนำไปใช้ในสาธารณะกุศลต่างๆ
- E Bike จักรยานยนต์ไฟฟ้า ในราคา 10 US$ ต่อวันที่ greene-bike
- สำหรับทัวร์ที่จะไปตามที่ต่างๆไกลๆนั้นให้เลือกบริษัทที่ใหญ่ๆ เพราะถ้าหากใช้บริการจากทางโรงแรมหรือตามเอเจนซี่ที่เล็กๆ เราก็จะโดนบวกราคาเพิ่มและส่งต่อให้กับบริษัทใหญ่ๆอยู่ดี และบางทีเราอาจจะต้องรอให้มีลูกค้ามากพอเพื่อที่จะออกเดินทางได้ เราเลือกใช้ Siemreap Shuttle
- สกุลเงินที่นี่สามารถใช้ดอลลาร์สหรัฐได้ทุกที่จริงๆ ไม่มีความจำเป็นต้องแลกเงินเป็น เรียลกัมพูชา (KHR) เพราะบางทีจะทำให้จ่ายสินค้าหรือบริการที่แพงขึ้น แต่ควรจะมีแบงค์ที่ไม่ได้ใหญ่มากในการซื้อของในตลาดหรือนั่งรถรับจ้าง เพราะการไม่มีเงินทอนมักจะเป็นปัญหาของที่นี่เช่นกัน
-
-
-