แสนหวี รัฐฉาน อดีตอันยิ่งใหญ่ในเมืองเล็กๆ

REMINDING ME: Hsenwi ,Shan state, Myanmar

แสนหวี  เมืองเล็กๆทางตอนเหนือของรัฐฉานในประเทศพม่า เราอาจจะเคยได้ยินชื่อนี้ก็จากบทประพันธ์เรื่อง เจ้าหญิงแสนหวี ของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ จนบางครั้งนึกว่าเมืองๆนี้เป็นเพียงสิ่งสมมุติมีแค่ในนิยายเท่านั้น…

มีตำนานเล่าว่า เมื่อก่อนหัวหน้าหมู่บ้านต่างๆจะนำกล้วยมาเป็นเครื่องบรรณาการที่หอหลวง(เหมือนต้นไม้เงินต้นไม้ทอง) เพื่อแสดงความจงรักภักดี แล้วร้อยต่อแขวนเอาไว้จนดูเหมือนมีกล้วยเป็นแสนๆหวี จึงเป็นที่มาของชื่อเมือง

เราเฝ้าถามตัวเองว่าเพียงแค่นี้หรือ…กับเหตุผลที่จะทำให้อยากมาเมือง แสนหวี

ก่อนที่จะเกริ่นเข้าเรื่องต้องขอบอกก่อนว่า ความเบาบางจางๆของแหล่งท่องเที่ยว ที่จะทำให้เกิดความอิ่มเอมนั้นแตกต่างจากเมืองอื่นๆ โดยส่วนตัวจุดหมายไม่ได้ทำให้ใจเราเต้นแรง แต่เรื่องราวในอดีตที่โยงใยกับสยามประเทศนั้น นับเป็นคันเร่งอันสร้างความอยากให้ได้มาเยือนได้เป็นอย่างดี

เศษซากที่แสดงความรุ่งเรืองในอดีตนั้นมีหลงเหลือให้เห็นไม่ได้มาก เนื่องจากที่นี่เคยผ่านศึกสงครามมาหลายครั้ง(โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่สอง)และเมื่อเผด็จการทหารเข้ามาปกครองและพยายามที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวโดยการลดทอนอัตลักษณ์แห่งชาติพันธ์ุ นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และยาวนานมากที่สุด

 

เราเริ่มออกเดินทางกันแต่เช้า โดยการเช่ารถพร้อมคนขับจากเมืองสีป้อในราคา 75 ดอลล่าร์

 

ถนนจากเมืองสีป้อมาแสนหวีจะมีรถบรรทุกมากมายแล่นเพื่อการค้ากับประเทศจีน ทั้งยังมีด่านตรวจเพื่อค้นหาของหนีภาษีที่ค่อนข้างคุมเข้ม

 

ปากทางเข้าเมืองแสนหวี ที่จะมีทะเลสาบเล็กๆอยู่ ที่ด้านหลังจะมองเห็นวัดกองมูธาตุแสนหวี (วัดพระธาตุกองมู)

 

แสนหวี เคยเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆตั้งแต่สมัยก่อนพระพุทธกาล มีชื่อเรียกต่างๆว่า เมืองแสง เมืองคำ เมืองเจ๋อู๋ เวียงทองแก มีคนปกครองตั้งแต่ขุนน้อยจนถึงเจ้าฟ้า ที่ถือว่าเป็นปฐมบทไทใหญ่แห่งรัฐฉาน อันเริ่มจากสมัยสิ้นยุคเจ้าเสือข่านฟ้าแห่งอาณาจักรไทมาวที่จีนและพม่าเข้ามาบุกยึดดินแดนจนเกิดการล่มสลาย เจ้าเมืองแสนหวีจึงได้รวบรวมชาวไทใหญ่ในบริเวณนี้ให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง จนสามารถขยายพื้นที่ในการปกครองแผ่ไปจนถึงจีนยูนนานและมีความสัมพันธ์อันดีจนเปรียบเป็นเมืองพี่เมืองน้อง เสมือนเป็นประเทศเดียวกันกับอาณาจักรล้านนา(เชียงใหม่) จนเข้าสู่ยุคสมัยอาณานิคม และในช่วงปีค.ศ. 1959 รัชสมัยเจ้าห่มฟ้ากษัตริย์ร์องค์สุดท้าย ก็ได้ทรงสละพระราชสมบัติให้กับรัฐบาลสหพันธรัฐไทใหญ่ได้เข้ามาปกครองแทน

และเมืองนี้ก็มีตำนานความผูกพันธ์กับสยามมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงที่ต้องต่อสู้กับพม่า เจ้าคำก่ายน้อย (ขุนคำแก้ว)ได้ทรงขอให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราราช ยกทัพมาช่วยศึก แต่ทว่าทรงเสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปเสียก่อน ณ เมืองหาง จังหวัดเมืองโต๋นในปี ค.ศ. 1605  จึงทำให้แสนหวีพ่ายในสงครามครั้งนั้น

สำหรับเรื่องของความรู้สึกนั้นถึงแม้ว่าทางกายภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่นี่จะไม่ได้อลังการงานสร้างอะไรมากมาย แต่ความเป็นฉาน ที่เรารู้สึกเหมือนญาติพี่น้อง และประวัติศาสตร์ที่มีความผูกพันกับคนไทย มันสร้างความพิเศษให้กับเมืองอันแสนห่างไกลแห่งนี้ได้ดีทีเดียว

 

ลุงสอยปาเตียน ที่เราว่าจ้างให้ขับรถมาจากเมืองสีป้อ ก็ตื่นเต้นกับการมาแสนหวีอยู่ไม่น้อย เพราะถือได้ว่าเป็นการมาเที่ยวที่นี่อย่างจริงๆจังๆเป็นครั้งแรก

 

จะไปไหนแต่ละที่ต้องคอยสอบถามชาวบ้านกันตลอด เพราะหลายที่ก็ซุกตัวอยู่ในซอยที่ค่อนข้างลึก ไม่มีป้ายบอกทางใดๆทั้งสิ้น

 

ภาษาตระกูลไท-กะได ใช้พูดในภาคเหนือของประเทศพม่า ประเทศไทย และทางตอนใต้ของประเทศจีน ทำให้เราฟังออกเป็นบางคำ

 

เมื่อเลี้ยวเข้ามาจากถนนใหญ่เพื่อมาที่ 12 หอเมือง ก็ต้องสอบถามเส้นทางจากชาวบ้านแถวนั้นกันอยู่ดี เพราะมีทางแยก ทางเล็ก ทางน้อยเต็มไปหมด

 

ร้านข้าวไตซอย หรือก๋วยเตี๋ยวฉาน ที่เราแวะรับประทาน รวมทั้งสอบถามข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยว คุณยายใจดีมากๆ

 

ภาพครอบครัวของคุณยาย ที่ตอนนี้ทุกคนต่างไปทำงานที่ต่างเมืองเพื่อโอกาสชิวิตที่ดีกว่า

 

คุณยายเมื่อก่อนสวยมากจริงๆ ช่างสมกับคำชื่นชม “สาวหั่งหลีสาวแสนหวี”

 

สถานที่เที่ยวแสนหวี

หอเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี (หอคำเมือง)

ในสมัยเจ้าขุนส่างต้นฮุง มหาราช (จริงๆท่านเป็นเพียงสามัญชนและสถาปนาตนเป็นเจ้าในเวลาต่อมา หลังจากที่ได้ต่อสู้รบกับพม่าที่มาคอยรุกรานอยู่หลายครั้ง จนชาวไทใหญ่เองเคารพนับถือท่านเป็นอย่างมากจนถึงทุกวันนี้) ในปีค.ศ.ค.ศ.1914 ได้ทรงสร้างหอเจ้าฟ้าเมืองแสนหวี (เหนือ) ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรือง (ซึ่งตอนนั่นแสนหวีได้ถูกแบ่งออกเป็นแสนหวีเหนือกับแสนหวีใต้ตั้งแต่ปีคศ.1888) และทรงต่อสู้กับอังกฤษในช่วงที่พยายามแผ่อิทธิพลหลังจากยึดครองมัณฑะเลย์ได้แล้ว แต่ก็ลงเอยด้วยการที่อังกฤษยอมให้เมืองไทใหญ่ตามที่ต่างๆตกเป็นเพียงเมืองใต้อารักขาอังกฤษ และยังคงระบบเจ้าฟ้าเอาไว้เหมือนเดิม (เหตุการก่อนสนธิสัญญาปางโหลงที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆรวมตัวกันกับชนชาติพม่า เพื่อใช้ในการต่อรองเพื่อขออิสระภาพจากการเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ) ในเวลาต่อมาทางการพม่าได้ทำทีส่งทหารเข้ายึดครองพื้นที่ต่างๆ ของรัฐฉาน โดยใช้ข้ออ้างเข้ามาปราบปรามทหารก๊กมินตั๋งที่ถอยร่นมาจากจีน ซึ่งเมืองนี้ก็มีชะตากรรมเหมือนเมืองอื่นๆในรัฐฉานหลังยุคนายพลเนวินที่เข้ายึดครอง ทำให้สิ้นสุดการปกครองแบบระบบเจ้าฟ้าอย่างสมบูรณ์แบบ และหลังจากที่ใช้หอคำเมืองแสนหวีเป็นค่ายทหาร ก็ได้ถูกทำลายลงอย่างน่าเสียดาย (ข้าวของที่ยังหลงเหลืออยู่ในสมัยเจ้าฟ้าบางพระองค์ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สองถูกจัดแสดงอยู่ที่วัดมหามัยมุนีแสนหวี แต่เราไปถึงเย็นเกินเลยเข้าชมไม่ได้) และที่เสียหายหนักสุดอีกรอบก็คือระเบิดจากฝ่ายอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง

พระบรมราชานุสาวรีย์เจ้าขุนส่างต้นฮุง มหาราช

 

ป้ายสัญลักษณ์ที่สร้างเพื่อการเฉลิมฉลองหอคำเมืองมีอายุครบรอบ 100 ปี

 

ถึงแม้จะมีโครงการในการบูรณะซ่อมแซมตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการดำเนินการใดๆ

 

หลายฝ่ายรวมถึงผู้คนในพื้นที่ได้มีความหวังในแผนการฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเมืองแสนหวี ไม่ให้เป็นเพียงเมืองผ่าน แต่ให้กลายเป็นจุดหมายที่สามารถเดินทางมาเที่ยวกันได้เหมือนอย่างเมืองสีป้อ

 

หลังจากงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี เมื่อค.ศ.2014 ที่นี่ก็กลับมาเงียบเหงาเหมือนอย่างเคย

 

หอผีเมืองแสนหวี (อารักษ์เมือง)ในบริเวณใกล้ๆวัง ที่ปัจจุบันจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านในด้วย

 

เสือ เป็นอีกหนึ่งของสัญลักษณ์เครื่องหมายบ่งบอกถึงเผ่าพันธ์ุชาวไทใหญ่

 

สุสานหลวงแสนหวี

สุสานหลวงของเจ้าขุนส่างต้นฮุง และพระศพของเชื้อพระวงศ์ ซึ่งรวมถึงเจ้าห่มฟ้าที่เป็นเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเมืองแสนหวี คนไทใหญ่จะไม่เผาศพนอกจากพระสงฆ์ บริเวณโดยรอบจะเป็นป่าช้าที่มีหลุมศพอื่นๆอีกมากมาย รถของลุงไม่สามารถไต่ขึ้นมาบนถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อได้ เราจึงเดินมาคนเดียว(ลุงแกขาเจ็บถ้าเดินเยอะไม่ไหว) ในส่วนของสุสานหลวงมีรั้วล้อมรอบ กว่าเราจะหาทางเข้าเจอ ก็ต้องเดินวนไปมาอยู่นานเหมือนกัน แต่ทว่าประตูจะมีไม้ไผ่เสียบขวางอยู่ ต้องมุดเข้าไปอย่างทุลักทุเล

ถึงแม้จะมีการถางหญ้าแต่ก็มีวัชพืชแปลกๆที่มีหนามแหลมสามารถทะลุรองเท้าที่เราใส่ไปอยู่ดี ที่นี่ก็ไม่ต่างจากที่อื่นๆที่เคยไปมา คือเหมือนถูกปล่อยทิ้งร้าง บางส่วนเหมือนโดนทุบทำลายรื้อค้น บรรยากาศหงอยเหงาและวังเวงแปลกๆ วัวที่เล็มหญ้าก็ร้องด้วยน้ำเสียงที่โหยหวนและคอยเดินตามเราตลอด เมื่อถ่ายรูปได้สักพักจึงรีบกลับออกไป

มีรั้วลวดหนามล้อมโดยรอบ ส่วนประตูทางเข้าจะมีไม้ไผ่ขัดเอาไว้ต้องมุดเข้าไป ถ้าฝนไม่ตกรถคงเข้ามาถึงบริเวณนี้ได้ แต่รถของลุงต้องจอดไว้ด้านล่างไกลอยู่พอสมควร เพราะถนนที่กำลังทำเป็นหลุมโคลนทางลื่นมาก

 

บรรยากาศข้างทางในระหว่างที่เดินมายังสุสานหลวง จะมีหลุมศพกระจายตัวอยู่ตลอดทั่วบริเวณ

 

ถึงแม้จะมีการถากถางหญ้าและเพิ่งทาสีใหม่ แต่ที่นี่กลับดูวังเวงจนขนลุก

 

วัวตัวนี้เดินตามเรามาตลอดเมื่ออยู่ในสุสาน ความลุกลี้ลุกลนที่มาพร้อมกับเสียงร้องที่โหยหวน ทำให้เราแยกไม่ออกว่ามันดีใจหรือกำลังหวาดระเวง

 

วัดกองมูธาตุแสนหวี 

บนเนินเขาในเมืองจะมีวัดกองมูธาตุแสนหวี (วัดพระธาตุกองมู) เจดีย์ ที่ครูบาบุญชุ่ม พระชาวไทยที่ได้รับความเคารพนับถือจากชาวไทใหญ่มาก ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์เก่าแห่งนี้ ซึ่งท่านได้นิมิตว่า มีเทวดามาบอกให้บูรณะเจดีย์เก่าแก่อายุราว ๑ พันปี ถูกทิ้งรกร้างอยู่บริเวณเชิงดอยน้ำตกตาด หลังจากนั้นเหล่าสงฆ์และคณะศิษย์ออกค้นหา จนพบฐานและซากเจดีย์เก่า ตามนิมิต 

พระธาตุสัพพัญญู จุ้มเมืองแสนหวี เป็นเจดีย์รูปทรงคล้ายสุวรรณเจดีย์ ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย การบูรณะพระธาตุ เสร็จในปี 2549

 

เจดีย์แห่งนี้ใหญ่มาก อยู่ส่วนไหนของเมืองเมื่อมองมาบนเขาก็ต้องเห็น

 

และถ้าขึ้นเขาต่อไปจะมีน้ำตกตาด แต่ด้วยเวลาเราจำกัด จึงไม่ได้แวะไป

 

วัดจองคำ

เป็นวัดเก่าแก่มีอาคารไม้สักหลังใหญ่  เป็นสถานที่เรียนเปรียญธรรม จึงมีพระภิกษุสามเณรอยู่เป็นจำนวนมาก ด้านหลังวัดมีโบราณสถานที่เป็นเจดีย์เก่าแก่ที่มีศิลปะแบบล้านนา สถานที่นี้เล็กกว่าที่เรานึกเอาไว้ แต่ที่นี่ก็ยังมีเศียรพระพุทธรูปหลงเหลืออยู่มาก ถึงแม้จะแตกหักเสียหาย แต่ก็แอบคิดไม่ได้ว่าจะถูกขโมยไปสักวันเป็นแน่แท้ 

ลุงบอกให้เรารอพระรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ที่พูดภาษาไทยได้ แต่เนื่องด้วยท่านติดกิจธุระยังไม่กลับมา ด้วยเวลาที่บ่ายคล้อยจึงเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับท่าน เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ เมื่อมีพระหรือนักวิชาการชาวไทยที่สนใจเรื่องเหล่านี้ ก็มักจะมาเยี่ยมชมที่นี่กันอยู่เสมอ

ด้านหลังวัดจะมีทางเดินลงเนินไป จะเป็นแหล่งโบราณสถานที่ยังไม่ได้มีการขุดแต่ง

 

ฐานของเจดีย์เป็นศิลปะแบบล้านนา

 

ก่อนเข้าเยี่ยมชมที่นี่ควรแจ้งกับพระหรือมัคนายกเพื่อขออนุญาติเปิดกุญแจรั้วเข้าไปด้านใน

 

สามเณรที่กำลังเล่นกันอย่างสนุกสนาน โดนขัดจังหวะโดยเรา ที่ถูกขอให้ช่วยชี้ทางไปโบราณสถานด้านหลังวัด

พระอุปคุปต์ หรือ พระบัวเข็ม ที่วัดจองคำ

 

12 หอเมือง

สถานที่ที่เราชอบมากอีกที่หนึ่งในแสนหวี นั่นก็คือ 12 หอเมือง ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง (คล้ายๆเสาหลักเมือง แต่เป็นไปในเชิงของผีสางนางไม้ ไว้คอยอารักษ์เมือง เราขับรถหลงกับลุงอยู่นานมาก ถามทางชาวบ้านก็หลายหน สุดท้ายลุงบอกให้เราลองเดินเข้าไปในซอยๆนึง ที่ถนนค่อนข้างแย่ ถ้าลุงหาที่จอดดีๆไม่ขวางทางจะเดินตามเข้าไป เราเดินมาถึงสถานที่มีรั้วคล้ายบ้านคนแห่งหนึ่ง จึงเปิดและเดินเข้าไป มันวังเวงชวนขนลุก ตรงกลางจะมีบ้านหลังใหญ่และมีบ้านหลังเล็กๆแยกเป็นหลังๆอีกที ภายในจะมีที่นอนหมอนมุ้ง บ้างมีของเล่น บางหลังมีปืน หลังจากที่เดินขึ้นไปจุดธูปที่บ้านหลังใหญ่  หันไปเจอลุงกำลังเดินเข้ากับคนงานที่กลับเข้ามาหลังจากพักกลางวันกันพอดี ซึ่งแกเคยมาทำงานที่ไทยจึงพอพูดได้บ้าง แกอธิบายว่า ที่นี่เป็นที่ที่ชาวบ้านจะมากราบไหว้บูชา ขอให้พืชผลทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์ หรือจะมาบนบานศาลกล่าวเรื่องทางโลกที่พระสงฆ์องค์เจ้าไม่น่าจะไปยุ่งเกี่ยว

หอเมือง เป็นสถานที่สำคัญของชาวไทใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ถึงแม้ที่นี่จะไม่คึกคักเท่าเมืองสีป้อก็ตามที

 

เรานับยังไงก็เกิน 12 หอ พอสอบถามที่มา ก็คือมีการสร้างหอเพิ่มเติมในภายหลัง แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียก 12 หอเมืองเช่นเคย

 

บรรยากาศที่นี่น่ากลัวอยู่เหมือนกันเมื่อต้องอยู่คนเดียว

 

ครั้งแรกที่เห็นก็แอบหวั่นๆอยู่เหมือนกัน กับเสาต้นเล็กๆที่ตั้งเรียงรายอยู่แถวโคนต้นไม้ มีห่วงร้อยย้อยมาถึงพื้นที่มีข้าวสารโปรยอยู่ เมื่อถามคนงานเค้าบอกว่าสิ่งนี้มีไว้เลี้ยงพวกผีที่ไม่ได้มีหออยู่

 

วัดกองมูโหเมิง(วัดหัวเมืองเจ้าอู่แสนหวี)

กองมูโหเมิง หรือวัดหัวเมืองเจ้าอู่แสนหวี ห่างจากตัวเมืองมา 7 กม. จะมีต้นไม้เรียกว่า ไม้ก้ำก่อ (ค้ำก่อ) เป็นต้นบุนนาคที่ปลูกคู่กันอยู่ ตามตำนานได้กล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปลูกกับเจ้าคำก่ายน้อย   และเมื่อใดที่รากไม้พันเกี่ยวเกาะกันเมื่อใด เมื่อนั้นฉานกับสยามจะเป็นใหญ่ปกครองแผ่นดินร่วมกัน ในภายหลังทหารพม่าก็ได้ขุดและตัดรากออกเพื่อไม่ให้สิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นจริงได้

อีกตำนานที่น่าสนใจ ข้อมูลจาก Tai Community Online ได้กล่าวไว้อีกเรื่องที่แตกต่างจากตำนานข้างต้นว่า “ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์สองต้นนี้ พระญาณคัมภีร์เมืองเชียงใหม่มาปลูกไว้เมื่อครั้งมาตามหาพระพุทธสิหิงค์และวาดรูปองค์พระให้ชาวบ้านดู มีนายพรานซึ่งได้เห็นรัศมีพวยพุ่งจากในถ้ำ เป็นผู้พบและทูลเจ้าฟ้าให้อาราธนามาไว้ที่หัวเมืองแห่งนี้  แต่แล้วพระพุทธรูปก็หายไปอีกทำให้ “คอขม” (เสียใจ) ยิ่งนัก นับแต่นั้น (พ.ศ.2139) คนก็นับถือพุทธศาสนาสืบมา บริเวณใกล้ต้นก้ำก่อมีกองอิฐกองใหญ่ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าที่พระญาณคัมภีร์มาสร้างไว้ และทางเมืองแสนหวีได้สร้างเจดีย์ขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่งใกล้กันกับองค์เก่า จองโหเมิงหรือกองมูโหเมิง รวมทั้งต้นก้ำก่อคู่จึงเป็นเสมือนสักขีพยานของความร่วมมือกันระหว่างสองดินแดนสถาปนาพุทธศาสนา ณ เมืองแสนหวี”

สถานที่นี้นับว่าเป็นที่ที่เราอยากมาที่สุดในแสนหวี

 

ประตูทั้งสองฝั่งจะลงกลอนเอาไว้ แต่สามารถเอามือล้วงเปิดเข้ามาได้

 

มีพระพุทธประดิษฐานระหว่างสองต้นนี้ เพื่อปกปิดร่องรอยการขุดราก บ้างว่าป้องกันพวกขุดล่าสมบัติโบราณ

 

ต้นบุนนาค ไม้ก้ำก่อที่มองแต่ไกลเหมือนต้นไม้ต้นเดียวกัน

 

REMINDING YOU

การเดินทาง เมืองแสนหวี

การเที่ยวในเมืองแสนหวีในวันนี้ สามารถมาได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตพิเศษแล้ว แต่ว่าห้ามค้างแรมที่เมืองนี้

เดินทางโดยรถไฟจากเมืองมัณฑะเลย์ – สีป้อ ราคา3950 Kyat รถเที่ยวตีสี่ ใช้เวลา 13 ชั่วโมงให้เลือกที่นั่งฝั่งซ้ายหากอยากเห็นสะพานก๊อกเต๊กตอนที่เลี้ยวอยู่บนสะพาน

เดินทางโดยการเหมารถ ราคา 75 ดอลล่าร์จากเมืองสีป้อ 

การมาเที่ยวที่นี่เราได้นำข้อมูลจากรายการทีวี IASEAN ตอน เมืองแสนหวี ครบ 100 ปีเต็ม (ขอขอบพระคุณมาณ ที่นี้ด้วยครับ) เราจับภาพมาเป็นรูปๆของสถานที่ต่างๆเพื่อเป็นลายแทง และคุณลุงคนขับที่เป็นคนไทใหญ่ ลุงสอยปาเตียน จะคอยสอบถามข้อมูลโดยการโชว์รูปต่างๆให้กับคนในพื้นที่ไปตลอดเส้นทาง เนื่องด้วยที่เมืองแสนหวีไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก การปักหมุดใน Google Map ก็ยังคงมีความมั่วๆและหลายที่ไม่ได้ปรากฎในแผนที่ จริงๆแล้วสถานที่ต่างๆไม่ได้ทำให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก แต่ความสนุกและความสุขตอนที่ได้ค้นหาและพูดคุยกับคนในพื้นที่ต่างหากที่เราว่าเป็นเหมือนรางวัลของการได้มาเที่ยวที่นี่

 

 

Thanawat: REMINDER

View Comments (4)

  • น่าสนใจมากครับ แต่เดินทางคนเดียวนี้ผมอาจจะต้องทำใจเรื่องบรรยากาศและความวังเวงก่อน ชื่นชมความใจกล้าของคุณมากครับที่บุกเดี่ยวไปที่กู่เจ้าและที่ 12หอเมือง

  • อ่านนิยายเจ้าเมืองแสนหวี ของธินินัดดาจบ เลยค้นกูเกิลมาเจอเว็บนี้ เท่าที่หาในกูเกิ้ล ไม่ค่อยมีคนมารีวิวเที่ยวเมืองแสนหวีเท่าไหร่ อ่านแล้วสนุกดีค่ะ อยากไปตามรอย ช่วงนี้สนใจเกี่ยวกับเมืองต่างๆในรัฐฉาน เพราะกลับมาดูละครไทยที่สร้างจากนิยายอิงประวัติศาสตร์

    • ผมไปมาก็ชอบมาก็อยากกลับไปอีก ถ้าไม่ติดเรื่องวีซ่าที่มีแค่ 14 วันก็อยากจะเที่ยวเมืองเล็กๆเมืองอื่นอีก ผู้คนที่นั่นก็น่ารักมากครับ ทำให้ทั้งสนุกและสบายใจมีความสุขลดความกังวลหลายๆเรื่องไปได้เลย ^^