เที่ยวเกาะแกร์ หลักฐานแห่งการเป็น มฤตกเทวาลัย

ปราสาทธม พิรามิดแห่งเขมร

REMINDING ME:  เกาะแกร์ ,กัมพูชา

มฤตกเทวาลัย คือการรวมคำเพื่อเรียกศาสสถานที่เป็นที่สถิตของเทพและสุสานสำหรับฝังพระศพหรือพระอัฐิของกษัตริย์ผู้สร้างเข้าไว้ด้วยกัน หรือที่เรียกว่าเป็น สุสานแห่งเทวราชา แต่ทว่าหลักฐานอะไรกันที่จะมาบ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

ความสงสัยเฉกเช่นนักโบราณคดีในสมัยก่อน กับการตั้งคำถามถึงว่าทำไมเหล่ากษัตริย์ถึงต้องสร้างศาสนสถานแห่งใหม่เป็นของพระองค์เองขึ้นมา การกังขาในสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตมโหฬารนั้นเพื่อความศรัทธา บูชาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพียงเท่านั้นงั้นหรือ จำนวนของเทวาลัยที่มีอยู่มากมายในเขตพระนคร ที่มีมากจนได้รับสมญานามว่าเป็น เมืองแห่งทวยเทพ ก็สามารถสร้างความอัศจรรย์ใจให้ผู้คนมาในทุกยุคทุกสมัย

หีบหินที่เป็นเหมือนโกศ ปราสาทบันทายสำเหร่อันเป็นหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อเรื่องการที่ศาสนสถานเป็นเสมือนที่ประทับหลังความตาย ด้านล่างจะมีรูไว้ระบายน้ำเหลืองหรือน้ำที่ใช้ในการทำพิธีทรงน้ำพระบรมศพ ซึ่งหาชมได้ยาก มีเพียงที่นี่เพียงที่เดียวที่ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

การค้นพบที่สำคัญที่เมือง เกาะแกร์ จากนักสำรวจรุ่นใหม่ๆที่เราชื่นชมอย่าง Eric Bourdonneau นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ที่ได้เน้นย้ำและแสดงหลักฐานที่ชัดเจนไม่คลุมเครือเหมือนเป็นแค่ตำนาน การต่อกระจกเงาที่แตกละเอียดเพื่อสะท้อนเรื่องราวต่างๆให้ชัดเจนเป็นเรื่องที่ยาก อันไม่ใช่แค่จะกล่าวถึงนครวัดที่สร้างปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเพียงเท่านั้นที่จะสรุปเรื่องราวทั้งหมดได้  แล้วเรายังจะสามารถเห็นเรื่องราวอะไรได้อีกบ้าง แล้วการที่ได้มา เที่ยวเกาะแกร์ ยังจะเหลือหลักฐานทางประวิติศาสตร์อะไรอีกบ้างที่เรายังคงพบเห็นได้

ฐานของปราสาทธม ที่เป็นเหมือนพีระมิดนั้น มีความกว้าง 55 เมตรและสูงถึง 36 เมตร

เมืองเกาะแกร์ อันตั้งห่างออกไปกว่าร้อยกิโลเมตรจากเมืองพระนคร

เมืองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 (พศ.1471-1484) ได้ประกาศตนขึ้นเป็นเทวราชาพระองค์ใหม่ พร้อมสถาปนานครโฉกครรคยาร์ ( เกาะแกร์ ) ขึ้นเป็นศูนย์กลางและตั้งมั่นเป็นเมืองหลวงอีกแห่ง เพื่อการการป้องกันการรุกรานข้าศึกระหว่างอาณาจักร และได้ก่อสร้างปราสาทธมอันเป็นที่ประดิษฐานศิวลิงค์ขนาดใหญ่นามว่า ตรีภูเนศวร

สิ่งที่ดึงดูดให้นักเดินทางมา เที่ยวเกาะแกร์ นั่นก็คือ มหาพีระมิดปราสาทธม (จริงๆแล้วของเดิมทีมียอดปราสาทแต่ได้พังทลายหายไปจึงทำให้เหลือแต่ฐานที่ทำเป็นชั้น 6 ชั้น ทำให้มีลักษณะคล้ายพีระมิด) อันถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีขนาดใหญ่อลังการที่สุดตั้งแต่มีการก่อสร้างพระนครกันมาเลยทีเดียว

บนยอดปราสาทธม สามารถมองไปได้ไกลถึงเขาพระวิหาร และดินแดนประเทศไทย
หลุมบนยอดปราสาทธม ที่เคยเป็นที่ประดิษฐานมหาศิวลึงค์ ตรีภูเนศวร ที่เชื่อกันว่าน่าจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เมตรเลยทีเดียว ปัจจุบันเกิดความเสียหายจากนักล่าสมบัติ ไม่มีหลักฐานอะไรนอกจากหลุมดังกล่าว

Eric Bourdonneau ได้มีการปะติดปะต่อรูปสลักที่แตกเป็นพันๆชิ้นและกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ มารวมเข้ากับหลักฐานชิ้นอื่นๆ(อย่างภาพวาดของ Louis Delaporte ในสมัย คศ. 1873และรูปสลักบางชิ้นที่อยู่ที่กรุงพนมเปญและพิพิธภัณฑ์ กีเมต์ ในกรุงปารีส) ออกมาเป็นเทวรูปพระศิวะที่มีความสูงถึง 5.6 เมตร ที่ประดิษฐานในเทวาลัยรูปทรง ศิขระ นับเป็นเทวรูปที่มีความพิเศษสุดในประวัติศาสตร์เมืองพระนคร  ในส่วนถัดมาเราก็จะเดินผ่านเข้ามาตามทางเดินสะพานนาคสายรุ้ง ที่ถือเป็นสะพานทางเดินเชื่อมจากโลกมนุษย์ไปสู่ช่วงชิวิตหลังความตาย

เทวาลัยรูปทรง ศิขระ เคยเป็นที่ประดิษฐานพระศิวะที่มีความสูงถึง 5.6 เมตร
ทางเดินสะพานนาคสายรุ้ง ที่ถือเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์ไปสู่ช่วงชิวิตหลังความตาย

ปราสาทหลังต่อมาที่ก่อนจะถึงเทวาลัยปารสาทธมนั้น  Eric Bourdonneau ได้แสดงถึงรูปสลักต่างๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆกับการสร้างภาพจากเศษซากและชิ้นส่วนที่ได้รวบรวมไว้ มาเปรียบเทียบกับภาพวาดของ Louis Delaporte ทำให้ทราบได้ว่า ฐานที่เราเคยเข้าใจกันมาว่าเป็นวัว โคนนทิ สัตว์เทพพาหนะแห่งพระศิวะนั้น แท้ที่จริงเป็นกระบือ สัตว์เทพพาหนะของพระยมราช หรือ มัจจุราช อันเป็นเทพเจ้าแห่งนรกและความตาย และรูปสลักที่พิพิธภัณฑ์ กีเมต์ที่เคยถูกเรียกว่าเทพบุรุษ (Divinité masculine) ทำให้พวกเขาสังเกตุเห็นความแตกต่างในเรื่องเครื่องแต่งกายและการแกะสลักทรงผมในภายหลัง เขาได้ทำการเปรียบเทียบกับรูปสลักอื่นๆอย่างรูปสลักเทพต่างๆ รวมทั้งรูปสลักของกษัติย์และรูปสลักนูนต่ำตามพื้นที่ต่างๆ จึงทำให้ทราบได้ว่า นี่คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ที่กำลังรับการพิพากษาจากพระยมอยู่อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะสนับสนุนในคติความเชื่อ เทวราชา ที่หากเมื่อกษัตริย์ที่เป็นดั่ง สมมุติเทพ ในโลกได้สวรรคต พระดวงวิญญาณของกษัตริย์นั้นจะกลับเข้ามาสิงสถิตอยู่ในศิวลึงค์บนยอดเขาไกรลาส รวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทพ ทั้งบนแผ่นดินและบนสรวงสวรรค์ 

ฐานที่เป็นกระบือ สัตว์เทพพาหนะของพระยมราช ที่ถูกเข้าใจมาโดยตลอดว่าเป็นวัว ในการสันนิษฐานแต่ครั้งก่อน แต่การนำมาเปรียบเทียบกับภาพวาดในสมัยก่อน รวมทั้งค้นพบชิ้นส่วนที่นำมาประกอบแล้วเป็นบางส่วนของเขากระบือได้อย่างพอดี
ฐานที่ยังคงหลงเหลือของรูปสลักทั้ง 8 รูป
หลุมที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยการวางเสาเพื่อการบูชายัญคนต่อเทพเจ้า

ถึงแม้ตัวเมืองเกาะแกร์ จะมีกลุ่มโบราณสถานที่รวมๆกันแล้วอีก 30 กว่าแห่ง (รูปด้านล่างคือปราสาทอื่นๆที่เราไปมาแถวๆเกาะแกร์) แต่ที่นี่ก็ได้โดนกาลเวลาและผ่านการโดนปล้นมาเยอะจนปัจจุบันแทบจะไม่เหลืออะไรให้ดูซักเท่าไหร่ แต่ความสำคัญข้างต้นที่ได้กล่าวมา กลับทำให้การมาเยี่ยมเยียนสถานที่แห่งนี้นั้นมีความหมายยิ่งขึ้นอย่างได้น่าอัศจรรย์ใจ

ปราสาทพราหมณ์ ที่ถูกต้นไม้กลืนกิน
กลุ่มปราสาทลึงค์
ปราสาทกรอจับ(กระจับ) ที่ประตูทางเข้ามีจารึกสลักบอกถึงเรื่องราวความเป็นมา

 

REMINDING YOU

การเดินทางมา เที่ยวเกาะแกร์

นั้นสามารถไปเช้าเย็นกลับได้จากเมืองเสียมเรียบ ค่ารถแบบเหมาจะอยู่ที่ 80 – 100 US$ แล้วแต่ชนิดรถที่ใช้  สำหรับการเลือกซื้อทัวร์ที่จะมาที่นี่ ส่วนใหญ่จะรวมเข้ากับการมาเที่ยวที่ปราสาทเบ็งเมเลียด้วย(40 US$) ให้เลือกบริษัทที่ใหญ่ๆ เพราะถ้าหากใช้บริการจากทางโรงแรมหรือตามเอเจนซี่ที่เล็กๆ เราก็จะโดนบวกราคาเพิ่มและส่งต่อให้กับบริษัทใหญ่ๆอยู่ดี และบางทีเราอาจจะต้องรอหลายวันให้มีลูกค้ามากพอเพื่อที่จะออกเดินทางได้ เราเลือกใช้ Siemreap Shuttle   

บัตรค่าเข้า 15 ดอลล่าร์ที่สามารถใช้ได้ทั้งเกาะแกร์และปราสาทเบ็งเมเลีย (ทั้งสองที่นี้ไม่สามารถใช้บัตร Angkor Pass ได้)

ถึงแม้จะมีการประกาศว่าเป็นเขตปลอดทุ่นระเบิด แต่เพื่อความปลอดภัยไม่ควรออกนอกเส้นทางเดินหลัก เพราะอาจจะมีหลงเหลืออยู่เราก็ไม่อาจทราบได้ และควรทายากันยุง มาลาเรีย ไข้ป่าในแถบพื้นที่นี้ยังคงมีอยู่

Thanawat: REMINDER