REMINDING ME: Mrauk U, Arakan state, Myanmar
มรัคอู รัฐยะไข่ เคยเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ ก่อนที่จะย้ายไปเมืองซิตตเว จากการต้องการความสะดวกที่ติดชายฝั่งเพื่อให้เป็นเมืองท่าเมื่ออังกฤษเข้ามาปกครอง
ชาวยะไข่เคยมีระบบกษัตริย์ ภาษา ศิลปะวัฒนธรรม เป็นของตนเอง
นับว่าเป็นชนชาติที่มีความสำคัญที่ถูกกลืนรวมเข้ากับประเทศพม่า แต่ความเจ็บแค้นจากการถูกแย่งชิงพระคู่บ้านคู่เมือง พระมหามัยมุนี ในรัชสมัยพระเจ้าปดุงเมื่อ 233 ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้ก็ยังคงความปวดร้าวให้กับคนในพื้นที่อยู่อย่างมาก
มรัคอู นี้เคยอยู่ในเขตที่ต้องขอทำเรื่องเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวแบบพิเศษ
และเข้าออกได้เฉพาะทางเรือเท่านั้น แต่ในทุกวันนี้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกขึ้นและปลอดภัยมีถนนเข้าถึง แม้จะอยู่ในรัฐที่ยังมีปัญหาความขัดแย้งกับชาวโรฮิงญา แต่ก็เกิดขึ้นอยู่ห่างไกล
ด้วยการยื่นเรื่องที่ล่าช้าในดินแดนที่มีปัญหาเพื่อให้เป็นมรดกโลก จึงทำให้ภูมิทัศน์ที่นี่ผสมผสานแหล่งโบราณคดีกับการร่วมอยู่ของชาวบ้านปัจจุบัน จนทำให้หลายคนรู้สึกว่าที่นี่มีสิ่งที่ขัดหูขัดตาหลายอย่าง แต่ที่ขัดใจเราจริงๆคือการสร้างถนนใหม่ชิดติดขอบบันไดวัดเก้าหมื่น ที่น่าจะสร้างปัญหาขึ้นได้ในอนาคต
โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของอาระคัน(ยะไข่)
ที่ใช้ในการสรรสร้างวัดวาอารามคือการใช้หินทรายมาแกะเป็นก้อนวางซ้อนเรียงกัน ซึ่งแตกต่างจากพุกามที่สร้างด้วยอิฐ และด้วยความที่ต้องการโครงสร้างที่แข็งแรงจึงได้มีการสร้างกำแพงซ้อนกันหลายชั้นเพื่อให้รับน้ำหนักของโครงหลังคาหินได้ จึงทำให้เกิดหลืบซอกทางเดินเหมือนโพลงถ้ำล้อมรอบ
การที่เคยเป็นรัฐอิสระต่อเนื่องยาวนาน จึงทำให้ความเป็นเอกลักษณ์ในทางด้านศิลปกรรมนั้นโดดเด่น ไม่ค่อยถูกกลืนผสมผสานจนแยกแยะแทบไม่ออกเหมือนบางพื้นที่
แต่ในปัจจุบันนับตั้งแต่การเข้ามาถือครองสิทธิของพม่า ก็ได้นำเอารสนิยมส่วนตัวมาผสมผสานในการบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงทำให้พระและรูปสลักหินมีร่องรอยของการทาสีลงบนโบราณสถานและวัตถุ กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้คนในพื้นที่ควรพึงระวัง โดยเฉพาะการใช้ร่วมสมัยในศาสนสถานที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การเดินขึ้นเขาเพื่อชมพระอาทิตย์ตกเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องทำเมื่อมาที่มรัคอู ซึ่งจะมีอยู่สองสามที่ที่สามารถขึ้นไปได้ยากง่ายตามถนัด ควันไฟที่ก่อใช้เพื่อทำอาหารตามบ้านเรือนต่างๆนั้นสร้างบรรยากาศให้ที่นี่สวยงามมากยิ่งขึ้น หากจะว่าไปจำนวนของโบราณสถานกับทำเลที่ตั้งที่ไม่ใช่ที่ราบ อันเป็นส่วนที่ส่งผลให้ที่นี่ไม่ตระการตาเท่ากับที่พุกามในแง่ของสิ่งที่มองเห็น แต่ทว่าความรื่นรมย์ทางความรู้สึกในระหว่างทางที่ผู้คนที่นี่มอบให้มันทำให้ที่นี่พิเศษกว่าที่ไหนๆจริงๆ ถึงแม้การสื่อสารด้วยวาจาจะทำได้อย่างยากลำบากในเรื่องของภาษา แต่รอยยิ้มที่ผู้คนมอบให้นั้นมันทำให้ชุ่มชื่นใจและก็เชื่อได้ว่าหลายๆคนตกหลุมรักที่นี่เพราะองค์ประกอบในเรื่องนี้อย่างแน่นอน
มรัคอู รัฐยะไข่ นอกจากวัดก็อย่างมีอย่างอื่นที่น่ามหัศจรรย์
มรัคอู รัฐยะไข่ มีหมู่บ้านชาวชินหญิงสักหน้า (หมู่บ้าน Pan Paung)บริเวณชายขอบของรัฐยะไข่ อยู่ห่างจากมรัคอูโดยทางเรือประมาณสองชัวโมงกว่า หญิงชราที่มีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีจะมีความเชื่อเรื่องการสักใบหน้าแล้วจะได้ไปสวรรค์ โดยการใช้หนามมะนาว ซึ่งจะเริ่มกันตั้งแต่อายุ 7 ขวบและจะต้องทำให้เสร็จสิ้นเต็มใบหน้าก่อนอายุ 18 ปี การสักจะทำกันในหมู่หญิงสาวโดยที่ผู้ชายไม่สามารถร่วมชมพิธีการได้ แต่เมื่อตอนที่ทางการได้พยายามจัดการปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็ได้มีการสั่งห้ามเพื่อไม่ให้เกิดความแปลกแยกที่เห็นได้ชัดเจนบนใบหน้าเยี่ยงนี้ และลดทอนความรู้สึกป่าเถื่อนในสายตาของต่างชาติที่จะแสดงถึงความล้าหลังไร้อารยะ
อีกหนึ่งเรื่องเล่าที่กล่าวถึงการสักหน้านั้นได้บ่งเหตุเจตนาแรกเริ่มเดิมทีได้เกิดจากการที่ต้องการจะสร้างตำหนิบนใบหน้าของหญิงสาวตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อให้คนต่างถิ่นนั้นหวาดกลัว เนื่องจากหญิงสาวชาวชินเป็นที่ขึ้นชื่อในด้านความงดงาม จนใครๆก็อยากที่จะได้เป็นเจ้าของ และต่อมาก็กลายเป็นค่านิยมที่ทำสืบต่อส่งทอดต่อๆกันมา
หญิงชราส่วนใหญ่ยินดีที่จะถูกถ่ายภาพด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะจำหน่ายผ้าทอมือเนื้อหนากันเกือบทุกบ้าน ซึ่งถ้าหากเราไม่ได้ต้องการที่จะอุดหนุนก็สามารถให้สินน้ำใจเล็กๆน้อยกับเหล่าผู้อาวุโสเหล่านี้ได้ เพราะรายได้หลักของหมู่บ้านก็มาจากการทำไร่นาของคนหนุ่มสาวและจากเหล่านักท่องเที่ยวนี้นี่เอง
เด็กๆในที่นี้ก็น่ารักสดใสไร้เดียงสามาก เด็กชาวชินจริงๆจะไว้จุกด้านหน้าทั้งหญิงชาย เด็กหญิงส่วนใหญ่จะตัดผมสั้นหรือโกนหัวเพราะตัดปัญหาเรื่องเหา หลายบ้านเราจะเห็นเด็กตัวเล็กๆดูแลเด็กเล็กๆด้วยกันเอง เมื่อพ่อแม่ออกไปทำงานที่ไร่พวกเขาจึงต้องดูแลกันเองได้อย่างน่าประหลาดใจ
สำหรับเด็กที่สามารถไปเรียนได้ก็จะมีโรงเรียนของหมู่บ้านที่ค่อนข้างขาดแคลน หากเรามาเยี่ยมชมก็สามารถบริจาคสิ่งของหรือเงินเพื่อให้ครูดูแลเด็กๆเหล่านี้ต่อไปได้
การอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจึงทำให้การกำจัดขยะมูลฝอยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้อย่างเป็นระบบ หากเราจะนำขนม(แม้กระทั่งให้กับเด็กๆ เพราะถึงแม้พวกเค้าจะดีใจ แต่ก็เป็นการสร้างขยะและโรคภัย โดยเฉพาะเรื่องทันตกรรมที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาล)หรือสิ่งของที่จะไปสร้างภาระให้กับพื้นที่ก็ควรจะต้องคิดคำนึงกันให้มากๆ ขยะทุกชิ้นที่เรานำไปควรเอากลับมาจัดการที่ฝั่งด้วยตัวเราเอง เพราะถึงแม้เราจะจะทิ้งในถังขยะแต่มันก็จะถูกจัดการด้วยการเผาและจะปลิวกระจัดกระจายอยู่ในที่แห่งนั้นนั่นเอง
พระทันตธาตุส่วนที่เป็นกรามของพระพุทธเจ้า ที่วัด Sunda Muhni Phara Gri Kyaung Tak นับเป็นความโชคดีที่ได้มีวาสนาสัการะอย่างใกล้ชิด เนื่องด้วยเจ้าพนักงานกำลังทำความสะอาดอยู่พอดี ซึ่งปกติจะถูกเก็บไว้ในตู้เซฟและจะนำมาให้ประชาชนกราบไหว้บูชาในงานเทศกาลพิเศษเท่านั้น
ที่วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปปางแปลกๆที่ไม่ค่อยได้เห็นที่ไหน รวมทั้งพระพุทธรูปมหาซานดามุนี สร้างขึ้นโดยพระเจ้าสุริยาในพศ. 222 ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการหล่อจากเศษโลหะที่มีค่าจากการสร้างพระมหามัยมุนี ตำนานเล่าว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถูกฝังอยู่ในปูนซีเมนต์ในทศวรรษที่ 1850 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปล้นสะดมกองกำลังอังกฤษและลืมไปนานกว่าหนึ่งศตวรรษ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2531 ดวงตาที่เคลือบเอาไว้หลุดออก เผยให้เห็นรูปปั้นโลหะด้านใน
มรัคอู ไม่ได้ทำให้เราแค่รู้สึกตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าหากจะว่าไป ความน่ารักของผู้คนที่พบเจอไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้คนทั่วไป มันยิ่งทำให้ที่นี่กลับมีเสน่ห์ในแบบที่เมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆไม่สามารถมีให้กับเราได้ ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส ทั้งนี้อันเนื่องมาจากความยากลำบากในการเข้าถึงและข่าวคราวปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา จึงทำให็ความเบาบางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีเพียง 5000 คนในหนึ่งปีเท่านั้น
เวลาที่เรามีในครั้งนี้น้อยเกินกว่าที่จะเที่ยวให้ทั่ว แต่ในใจได้แต่คิดว่ายังไงเสียต้องกลับมาที่นี่ให้ได้อีกสักครั้งอย่างแน่นอน เรียกได้คิดถึงตั้งแต่ยังไม่จากมากันเลยทีเดียว
REMINDING YOU
การเดินทางโดยเครื่องบิน
สามารถเดินทางมาลงที่สนามบิน ซิตตะเว่ (Sittwe) หรือ ซิตตุย ที่ห่างออกไปประมาณ 144 กม. ซึ่งตารางบินทำให้เราไม่สามารถเดินทางต่อไปยังมรัคอูโดยรถโดยสารหรือเรือสาธารณะได้เพราะจะมีแค่ช่วงเช้าเท่านั้น (เที่ยวบินส่วนมากจะล่าช้า)ต้องนอนที่เมืองหนึ่งคืน ซึ่งหลายคนบอกถึงเรื่องราคาโรงแรมที่ค่อนข้างแพง
การเดินทางโดยรถยนต์จากเมือง Sittwe
ใช้เวลาเดินทางรถยนต์ประมาณ 3 – 4 ชม. มีถนนเข้าไปเพียงเส้นเดียวเท่านั้น และในฤดูมรสุมมักจะทำให้ถนนเสียหายจนบางทีไม่สามารถสัญจรไปมาได้
- รถโดยสารมีหลายเที่ยวตั้งแต่เช้าออกจาก Sittwe ราคา K4000 เป็นรถที่จะแล่นมาจากเมืองอื่นเพื่อไป มัณฑะเลย์ หรือ Magwe
- รถตู้ที่เราสามารถนั่งรวมไปกับคนอื่นๆได้ในราคา US$ 30 โดยติดต่อล่วงหน้าตาม E Mail: mraukukyawmoe@gmail.com ชื่อ Mr. Kyaw Moe (จอว์ มอ)
การเดินทางโดยรถยนต์เมืองจากมัณฑะเลย์
- รถโดยสารใช้เวลา 20 ชม. K25,000
การเดินทางโดยเรือจากเมือง Sittwe
- บริษัท Inland Water Transport อังคาร / ศุกร์ 08.00 (7 ชม.) ราคา US$7
- บริษัท Shwe Pyi Tan พุธ/ศุกร์/อาทิตย์ 07.00 (2ชม.) ราคา K25,000
- เรือรับจ้างเหมาลำ US$160
- เรือรับจ้างแบบแชร์กันหลายคน ซึ่งถ้าเครื่องบินของเราไม่ล่าช้าไปกว่า 14.00 จะสามารถโดยสารเรือที่แชร์กันในราคา US$ 30 เราแนะนำให้ติดต่อกับ Mr. Kyaw Moe (จอว์ มอ) E Mail: mraukukyawmoe@gmail.com เพราะถ้าหากเครื่องบินล่าช้าก็ยังสามารถโดยสารรถตู้ไปได้ในราคาเดียวกัน
ดูรูปแล้วอยากไปอีกจังเลย
เก็บตังค์ไว้ไปใหม่คราวนี้จะนั่งเรือไป
เขียนดีมากๆครับ และขอชื่อชมเรื่องการปลูกฝังเกี่ยวกับการให้เกียริตชาวท้องถิ่นรวมถึงความยั่งยื่น (sustainability) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะหรือเรื่องการบริจาคครับ ชอบมากๆครับ
ขอบคุณมากครับผม ^^